ย้อนกลับไปไม่ต้องไกลมาก หากมีใครบอกว่าสักวันหนึ่งการเอาหมอนมาฟาดกันแบบเด็ก ๆ จะมีการแข่งขันชิงแชมป์โลกและมีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะกว่า 2 แสนบาท มันคงเป็นอะไรที่ชวนฉงนใจน่าดู
อย่างไรก็ตามทุกวันนี้เรื่องตลกดังกล่าวกลายเป็นเรื่องไปจริงแล้ว เพราะอยู่ดี ๆ การแข่งขัน ก็กลายเป็นของฮิตเสียอย่างนั้น มันกลายเป็นกีฬาอาชีพที่ผู้ก่อตั้งบอกว่า “จะตีตลาดกีฬาต่อสู้ทุกชนิด”
นี่คือเรื่องชวนขำครั้งที่ 2 แต่อย่าลืมว่า กีฬาฟาดหมอน เคยลบคำสบประมาทมาแล้ว 1 ครั้ง … พวกเขาจะทำได้อีกครั้งหรือไม่ ? เพราะอะไร ?
ใครเอามันออกมาจากห้องนอน !
มนุษย์ทุกคนมีสัญชาตญาณนักสู้ เมื่อถึงเวลาเราพร้อมจะสู้เพื่อเป็นฝ่ายชนะกันเสมอ แม้กระทั่งตอนจะเข้านอน…
เราเชื่อว่าไม่มีใครไม่เคยผ่านประสบการณ์เล่นเอาหมอนฟาดกันในห้องนอนแน่ ไม่ว่าจะกับพี่น้อง กับพ่อแม่ กับแฟน กับเพื่อน หรือกับใครก็ตาม กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นการปล่อยพลังก่อนนอนที่เน้นความสนุกเป็นหลัก ฟาดกันสองสามที จบแล้วก็จบกัน นั่นคือสิ่งที่ไม่ว่าคนชาติไหน ๆ ก็น่าจะทำกันทั้งนั้น
อย่างไรก็ตามการเอาหมอนฟาดกันนั้นถือเป็นกิจกรรมของคนที่ต้องมีความสนิทกันระดับหนึ่งเท่านั้นจึงจะเล่นกันได้ ดังนั้นจึงมีใครคนหนึ่งนั่งคิดและทบทวนใหม่ว่า หากเราเอาหมอนมาฟาดกับคนแปลกหน้า ฟาดกันแบบไม่ต้องยั้ง ใส่สุดข้อ ล่อเต็มวงสวิง มันจะมันได้ขนาดไหน ?
คนที่คิดเรื่องนี้คือ วินซ์ แม็คแมน ซีอีโอ ของ WWE สมาคมมวยปล้ำอาชีพที่โด่งดังที่สุดในโลก วินซ์ ได้นำเอาการแข่งขันฟาดหมอนมาผนวกเข้าธีมชุดนอน โดยให้เหล่าดีว่า (นักมวยปล้ำหญิง) ของ WWE ลงแข่งขันกันโดยเป็นการต่อสู้แบบยัดนักมวยปล้ำหญิงเยอะ ๆ ลงไปในเวทีเดียวกัน ให้ทุกคนสู้กันแบบ ใครรอดเป็นคนสุดท้ายจะเป็นผู้ชนะ ง่าย ๆ แค่นั้น
WWE รู้ดีว่าการเอาหมอนมาฟาดกันนั้นไม่ได้เป็นกีฬาที่เจ็บปวดอะไรหรอก แต่มันเน้นกันที่ความสนุกมากกว่า ดังนั้นภาพของการแข่งขันฟาดหมอนในรูปแบบของเหล่าดีว่าของ WWE จึงเน้นไปที่เรื่องของจังหวะโบ๊ะบ๊ะ หรือเล่นละครกันไปตามเนื้อเรื่อง ซึ่งผลตอบรับที่ออกมานั้นถูกใจคนดูเป็นอย่างมาก หลังจากช่วงต้นปี 2000 ในทุก ๆ ปี WWE จะมีการแข่งขันฟาดหมอนของเหล่าดีว่าเป็นคอนเทนต์ให้แฟนมวยปล้ำได้คลายเครียดกัน
แม้ WWE จะไม่ใช่องค์กรที่คิดเรื่องการฟาดหมอนในที่สาธารณะมาตั้งแต่ต้น เพราะในช่วงเวลาเดียวกันก็มีกลุ่มแฟลชม็อบ หรือกลุ่มที่รวมตัวกันผ่านการนัดหมายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ที่ใช้การฟาดหมอนเป็นหนึ่งในกิจกรรมแฟลชม็อบของพวกเขาเพื่อแสดงออกถึงสิ่งที่พวกเขาจะสื่อ (แล้วแต่ว่าจะประท้วงกันเรื่องอะไร) แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่องค์กรใหญ่อย่าง WWE หยิบเอากีฬาฟาดหมอนมาทำให้เป็นคอนเทนต์ที่มีคนรอติดตามได้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครหลายคนเห็นแววทำเงิน หรือมองเห็นแนวทางในการผลักดันกีฬาชนิดนี้ให้ไปไกลมากกว่าแค่การฟาดกันเล่นในห้องนอน ที่เป็นการให้นักมวยปล้ำหญิงมาสู้กันเท่านั้น
โอกาสจากการเปิดของรุ่นใหญ่
หลังจาก WWE เปิดตัวกีฬาฟาดหมอน ก็กลายเป็นว่ามีคนสนใจและหาข้อมูลของกีฬาดังกล่าวมากขึ้น สำนักข่าวดังอย่าง รอยเตอร์ส ได้ลงพื้นที่จนไปพบกับสมาคมคนฟาดหมอนอย่างจริงจัง ที่ไม่ได้ฟาดเบา ๆ เอาตลก โดยพวกเขาไปเจอการแข่งขันที่ชื่อว่า (PFL) ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยผู้ก่อตั้งลีกการฟาดหมอนนี้คือ สเตซี่ย์ เคส และ เคร็ก แดเนียลส์
สเตซี่ย์ เคส และ เคร็ก แดเนียลส์ เล่าว่าแรก ๆ พวกเขาก็จัดการแข่งขันฟาดหมอนขำ ๆ ในผับที่ชื่อว่า “เดอะ วาติกัน” แต่เมื่อมีคนนิยมมากขึ้นการแข่งขันก็จริงจังที่มีการฟาดกันที่รุนแรงและมีเทคนิคการเหวี่ยงหมอนใหม่ ๆ ให้แรงขึ้นกว่าการฟาดกันแบบเด็ก ๆ จนที่ในสุดพวกเขาก็เลยก่อตั้งเป็นลีกแบบชิงรางวัลขึ้นมา โดยเป็นการแข่งขันแบบหาแชมป์ของแต่ละเมืองมาสู้กันตั้งแต่ โตรอนโต ไปยัง มอนทรีออล และ ออนแทรีโอ
การต่อสู้ด้วยหมอนเป็นการหาทางออกที่ดีมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดแข่งขันในผับที่มีคนดื่มเหล้า มันคือกีฬาต่อสู้ที่ตอบสนองคนดูได้ดี และหากพวกเขารู้สึกเขม่นกับโต๊ะข้าง ๆ ก็สามารถสมัครแข่งขันขอขึ้นเวทีจับหมอนคนละใบแล้วฟาดกันแบบสุดแรงกันไปข้างได้เลย ผลลัพธ์มันก็คล้าย ๆ กับการทะเลาะวิวาทกันในผับบาร์ที่จะมีผู้แพ้และผู้ชนะ แต่ที่สุดแล้วความแตกต่างที่เป็นข้อสำคัญของกีฬาฟาดหมอนคือ มันเป็นเรื่องยากที่ผู้เข้าแข่งขันจะเจ็บหรือได้รับอันตรายถึงชีวิต
“เรามีปรากฏการณ์มวยปล้ำปาหมอนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่แมตช์ของเราไม่ได้ออกแบบเวทีประกบคู่หรือกำหนดไว้ล่วงหน้า การต่อสู้ของเราเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน”
“นักสู้กีฬาฟาดหมอนอาจจบการแข่งขันลงด้วยรอยฟกช้ำ มีบาดแผล มีรอยถลอก แต่มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น อย่างแรงที่สุดที่เราเคยเจอคืออาจเกิดการถูกกระทบกระแทก ดวงตาชํ้าดำ ริมฝีปากแตก ไตฟกช้ำ กล้ามเนื้อฉีกขาด และอื่น ๆ อีกมากมาย มันไม่ใช่กีฬาที่ง่าย” ซาราห์ เบลลัม กรรมการผู้ตัดสินกีฬาฟาดหมอนรุ่นแรกเล่ากับสำนักข่าว ABC
เดิมทีกีฬาฟาดหมอนอาจจะฮิตแค่ในแคนาดา แต่พอได้แรงส่งจากคอนเทนต์ของ WWE ชาวอเมริกันหลายคนก็สนใจกีฬาชนิดนี้ ทางฝ่ายจัดการแข่งขันฟาดหมอนลีก จึงได้เริ่มจัดทัวร์ไปยังสหรัฐอเมริกาโดยกินระยะเวลา 3 เดือน ไปที่ นิวยอร์ก ซิตี้, ออสติน รัฐเท็กซัส, วินด์เซอร์ และ ดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ซึ่งได้รับการตอบสนองและความสนใจเป็นอย่างดี
สิ่งที่ตามมาคือการออกกฎอย่างเป็นสากลเพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ทาง จึงมีการร่างกฎอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2007 ว่าการแข่งขันจะมีเวลาทั้งหมด 5 นาที หากหมดเวลาที่กำหนดยังไม่มีผู้ชนะ (คนที่ทำให้อีกฝ่ายสู้ต่อไม่ไหว) ก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ต้องตัดสินว่าใครออกหมอน (คล้าย ๆ กับการออกหมัดในกีฬาชกมวย) จำนวนมากกว่าหรือชัดเจนกว่ากัน
กฎหลัก ๆ คือแทบไม่มีข้อห้าม ตราบใดที่ใช้หมอนฟาดเมื่อนั้นคือถูกกติกา ส่วนข้อห้ามก็คือห้ามคุกเข่าลงไป ก้มหัว เก็บคาง ห้ามใช้หมัดและแขนเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตี เช่นเดียวกับการห้ามล็อกแขนคู่ต่อสู้ หากทำผิดกติกาจะถูกตักเตือน 1 ครั้ง แต่ถ้าหากยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม นักกีฬาคนนั้นจะถูกปรับแพ้
แข่งขันง่าย ๆ กติกาง่าย ๆ แบบนี้ กลายเป็นความมันเฉพาะกลุ่มที่ขยายวงกว้างได้อย่างเหลือเชื่อ จากที่เคยเป็นแค่ลีกในผับบาร์ในประเทศแคนาดาและรัฐต่าง ๆ ในอเมริกา ก็มีชายคนหนึ่งที่เชื่อว่า กีฬาฟาดหมอน สามารถทำเป็นการแข่งขันแบบจริงจังเหมือนกับกีฬาต่อสู้อื่น ๆ ได้ ที่มีการถ่ายทอดสด มีการแข่งชิงแชมป์โลก มีเงินรางวัล และมีสนามแข่งขันที่ได้มาตรฐาน
คนช่างฝันคนนั้นมีชื่อว่า สตีฟ วิลเลียมส์ ชายผู้ทำให้ กีฬาฟาดหมอน ไปได้ไกลกว่าที่ใครหลายคนคิด
ความเอ็นเตอร์เทนคือหัวใจสำคัญของกีฬายุคใหม่
สตีฟ วิลเลียมส์ ไม่ใช่ผู้บริหารด้านกีฬาหรือคนที่รักกีฬาต่อสู้อย่างที่ใครเข้าใจ เขาเป็นหนึ่งในผู้ประกอบรายการโทรทัศน์ที่รับผลิตรายการต่าง ๆ พร้อมทั้งยังมีธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์
เพียงแต่ว่าศาสตร์ที่เขาเรียนรู้ทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้เขาเห็นโอกาสจาก กีฬาฟาดหมอน และคิดจะทำให้มันเป็นการแข่งขันเป็นเรื่องเป็นราว
ประการแรก เขาทำรายการโทรทัศน์และสื่อบันเทิง มันทำให้เขารู้ว่าความเอ็นเตอร์เทนคือหัวใจสำคัญของกีฬายุคใหม่ และเมื่อเขาได้เห็นกีฬาฟาดหมอนโดยนักกีฬากล้ามใหญ่ที่สู้กันด้วยสีหน้าจริงจัง ฟาดใส่กันไม่ยั้ง เมื่อนั้นเขาก็รู้ว่านี่แหละคือสิ่งที่จะกระตุ้นอะดรีนาลีนให้กับผู้ชมได้ แถมยังเป็นความบันเทิงที่ไม่เคยมีใครที่ไหนนำมาจัดการแข่งขันถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์มาก่อน
ประการที่สอง ในแง่ของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ทางต่าง ๆ ที่เขาถือครองอยู่ในมือซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นที่ที่ทำประโยชน์อะไรได้มากนัก ก็สามารถนำมาดัดแปลงเป็นสนามแข่งขันฟาดหมอนอย่างเป็นทางการได้ ซึ่งนั่นก็ทำให้ที่ดินหรืออาคารของเขามีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ประการสุดท้าย เขารู้ว่ามีคนอีกมากที่เป็นเหมือนกับเขานั่นคือชอบดูคนต่อสู้กัน แต่ไม่ชอบเห็นภาพความรุนแรงแบบคนหลับกลางอากาศจากการโดนหมัดชกหรือเห็นคนหัวแตก คิ้วแตกเลือดอาบเวที ดังนั้นเขาคิดว่า กีฬาฟาดหมอน จะตอบโจทย์ทุกด้าน
“คุณสามารถเรียกมันว่ากีฬาทางเลือกได้ แต่เราคิดว่ามันจะได้รับความสนใจจากกระแสหลัก และเราหวังว่าเราจะเข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยได้” วิลเลียมส์ กล่าวถึงวันที่เขาเห็นโอกาสและเริ่มก่อตั้งการแข่งขัน (PFC) อย่างเป็นทางการขึ้นมา โดยเข็มขัดแชมป์โลกแบ่งเป็นรุ่นเหมือนกับมวยสากลสมัครเล่น โดยแชมป์แต่ละรุ่นจะได้เข็มขัดแชมป์และเงินรางวัลราว 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 168,000 บาท
วิลเลียมส์เล่นใหญ่ระดับไม่ได้โม้ เพราะเขาจัดการสนามแข่งขันแบบ Combat Arena เหมือนกับมวยกรง MMA ไม่มีผิด และจากนั้นก็ใช้วิธีการขายลิขสิทธิ์การเข้าชมแบบ Pay Per View (จ่ายก่อนถึงจะเข้าดูออนไลน์ได้) ก่อนจะได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี จนตอนนี้ทุกสำนักข่าวทั่วโลกต่างรุมสัมภาษณ์เขาถึงแนวคิดและสิ่งที่เขาจะต่อยอดกับกีฬาชนิดนี้ต่อไป ซึ่งเขาก็ยืนยันว่าเขาจะทำให้มันเป็นกีฬาอาชีพที่ตอบโจทย์ให้กับผู้ชมที่ไม่ชอบความรุนแรงเลือดสาดได้ดีกว่าที่ใครหลายคนคิด
“ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวระหว่างการต่อสู้ของเรากับการต่อสู้ MMA คือไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ” เขากล่าว
“นักชกไม่ชอบถูกทำร้าย และมีคนมากมายที่ไม่อยากเห็นเลือด พวกเขาต้องการเห็นการต่อสู้ที่ดีและสนุก แต่พวกเขาแค่ไม่อยากเห็นความรุนแรงก็เท่านั้นเอง”
“หากให้เปรียบเทียบ นี่ก็เหมือนกับการเอาดนตรีคันทรีกับเพลงแรปมาผสมผสานกันเพื่อให้เกิดผู้ชมกลุ่มใหม่และนำผู้ชมที่หลากหลายเหล่านี้มารวมกัน นั่นคือสิ่งที่เรากำลังทำ เราหวังว่าจะนำผู้ชมประเภทอื่นเข้ามาได้เยอะกว่านี้ในอนาคต” ผู้ก่อตั้งการแข่งฟาดหมอนชิงแชมป์โลกเล่าถึงฝันของเขา
ในยุคที่ความรุนแรงอาจจะไม่ตอบโจทย์ใครหลาย ๆ คน ไม่แน่ว่า กีฬาฟาดหมอน อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีเกินกว่าที่ใครหลายคนคิด และบนโลกนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ จากการเติบโตอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่ 2-3 ปี … สักวันมันอาจจะไปอยู่ในการแข่งขันโอลิมปิกก็ได้ใครจะไปรู้